Quantcast
Channel: ดารา – SUDSAPDA (สุดสัปดาห์) – TREND LIFESTYLE AND INSPIRATION
Viewing all articles
Browse latest Browse all 5111

มาทำความรู้จัก สุสานหลวง วัดราชบพิธฯ และวัดบวรนิเวศวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 9 ก่อนไปกราบพ่อ

$
0
0

มาทำความรู้จักกับ สุสานหลวง วัดราชบพิธฯ และวัดประจำรัชกาลที่ 9 วัดบวรนิเวศวิหาร สถานที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร ก่อนเตรียมตัวไปกราบพ่อทุกครั้งที่คิดถึง

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร สุสานหลวง “ราชสกุลมหิดล”

ตามราชประเพณี การถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระราชพิธีการเก็บพระบรมอัฐิ (กระดูก) และพระบรมราชสรีรางคาร (เถ้ากระดูก หลังจากการถวายพระเพลิง) เริ่มครั้งแรกในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระเทพสุดาวดี (สา) ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินี สิ้นพระชนม์ จึงทรงโปรดฯ ให้เริ่มมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เก็บพระอัฐิและพระสรีรางคาร จนกลายเป็นพระราชประเพณี สืบต่อกันมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

พระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (วันที่ 27 ตุลาคม 2560) ภาพ : ณัฐพงศ์ กิตติวรพงษ์กิจ

ซึ่งในวันที่ 29 ตุลาคม 2560 เป็นวันสุดท้ายของ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ก็จะมีการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปยัง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร สุสานหลวง สถานที่บรรจุพระสรีรางคารของเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงสมเด็จย่า และสมเด็จพระพี่นางฯ 

สุสานหลวง แห่งนี้ ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของวัด ติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม แต่เดิมมีอาณาบริเวณกว้าง 4 ไร่กว่า ต่อมา ในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทางผู้สำเร็จราชการ และ ทางกทม.ได้ตัดถนนอัษฎางค์ ซึ่งกินพื้นที่สุสานหลวงไปบางส่วน จนปัจจุบันสุสานหลวง เหลือพื้นที่เพียง 2 ไร่ครึ่งเท่านั้น

ภายในสุสานหลวง มีอนุสาวรีย์ต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างไว้บ้าง และที่พระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างขึ้นเองบ้าง ล้วนเป็นอนุสาวรีย์ที่ประดิษฐานพระราชสรีรางคาร พระอังคาร พระอัฐิ ของพระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม พระราชโอรส พระราชธิดา พระนัดดา และพระปนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นสุสานหลวงอนุสรณ์สถาน สำหรับ “จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์”

โดยตามความเชื่อแล้ว หลังจากพิธีเผาศพของผู้ตาย จะมีการนำอัฐิธาตุไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ หรือสถูป และต่อมาก็พัฒนาไปสู่ การบรรจุอัฐิหรืออังคารไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป หรือตามช่องกำแพงแก้ว ซึ่งแม้แต่พระบรมราชสรีรางคารของพระมหากษัตริย์ ก็มีการอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พุทธบัลลังก์แห่งพระพุทธปฏิมาพระประธาน ด้วยการบรรจุอัฐิหรืออังคาร ไว้ตามสถานที่ดังกล่าว จะเป็นการกระทำให้บรรดาลูกหลานในวงศ์ตระกูล ใช้เป็นสถานที่เคารพบูชา

พระมหาเจดีย์ใหญ่

ลักษณะของสถาปัตยกรรม ภายในสุสานหลวง เป็นแบบพระเจดีย์บ้าง พระปรางค์ บ้างก็เป็นพระวิหารแบบไทย แบบศิลปะปรางค์ลพบุรี และแบบโกธิค ซึ่งรวมอนุสาวรีย์ที่อยู่ในสุสานหลวงมีทั้งหมด 34 พระเจดีย์
       
โดยมีอนุสรณ์สถานสำคัญ สร้างขึ้นเป็นพระเจดีย์ 4 องค์ ที่ตั้งเรียงกันจากทางทิศเหนือ ด้านถนนราชบพิธฯไปทิศใต้ ประกอบด้วย

สุสานหลวง

  • อนุสรณ์สถาน “สุนันทานุสาวรีย์” เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ พระราชธิดา
  • อนุสรณ์สถาน “รังษีวัฒนา” เป็นที่บรรจุพระราชสรีรางคารสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก, สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า, เจ้าฟ้าวไลอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (ยังไม่มีพระนาม) พระราชธิดาองค์ที่ 88 และพระราชสรีรางคารแห่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  • อนุสรณ์สถาน “เสาวภาประดิษฐาน” เป็นที่บรรจุพระราชสรีรางคาร พระราชโอรสและพระราชธิดา ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  • อนุสรณ์สถาน “สุขุมาลนฤมิตร์” เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5, สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต และพระประยูรญาติแห่งราชสกุล บริพัต
พระพุทธอังคีรสเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

สำหรับการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มาประดิษฐาน ภายใต้ฐานชุกชีหินอ่อนของพระพุทธอังคีรส พระประธานประจำพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 9

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ได้รับการประกาศเป็นวัดประจำรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งหลังพระราชพิธี ถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จะมีการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร มาประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งนี้เช่นกัน

วัดบวรนิเวศฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ โปรดให้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีเจ้าอาวาสพระองค์แรก คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดบวรนิเวศวิหารครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2481 พร้อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อครั้งเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งแรก

กระทั่งทรงพระผนวชในปี 2499 จึงเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่ พระตำหนักปั้นหย่า ซึ่งเดิมเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระผนวช ต่อมาเป็นที่ประทับของ พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระผนวช และเสด็จพระราชดำเนิน มาประทับในวัดบวรนิเวศวิหาร โดยก่อนทรงพระผนวช ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น เพื่อทรงสดับพระธรรมด้วยความสนพระราชหฤทัยอยู่เสมอ

พระกฐินพระราชทาน

ธรรมเนียมปฏิบัติที่เกี่ยวกับ พระราชวงศ์โดยตรงที่ วัดบวรนิเวศฯ คือ วันเข้าพรรษาของทุกปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จพระราชดำเนิน มาถวายพุ่มเทียนเข้าพรรษา และถวายผ้าพระกฐินเป็นวัดแรก เมื่อถึงช่วงพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินหลวงประจำปี ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพ ทรงทำนุบำรุงวัด ทรงสร้างพระพุทธรูปสำคัญ และสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวเนื่องในพระองค์ กลายเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงในปัจจุบัน

กังหันน้ำชัยพัฒนา

ครั้งเมื่อทรงริเริ่ม โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา ทรงนำกังหันมาทดลองที่คลองเต่า ภายในวัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่แรกๆ เนื่องด้วยทอดพระเนตรเห็น น้ำในคลองที่ไหลเวียนไม่ดีนัก คลองเต่าในปัจจุบันจึงมีเต่า มีปลาอาศัยอย่างร่มเย็น

อีกทั้งในเวลาที่ทรงว่างจากพระราชกรณียกิจ มักจะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง และทรงพระดำเนินมาที่ตำหนักคอยท่าปราโมช หรือหากเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรมต่างจังหวัด จะทรงอาราธนาเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ให้เสด็จไปด้วยเสมอ

พระพุทธชินสีห์

ภายหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว จะมีการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารมาประดิษฐานไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งภายในพระอุโบสถใต้ฐานพระพุทธชินสีห์ พระประธานองค์หนึ่งในวัด ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ด้วย

ดังนั้น หากพสกนิกรชาวไทย คิดถึงพระองค์ท่านเมื่อไร ก็สามารถไปกราบท่านที่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เสมอ

ขอน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ และถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ดุจฤทัย ศานติวงศ์สกุล ผู้เรียบเรียง

ข้อมูล amarintv

ติดตามเรื่องราวของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพิ่มเติม

รวมภาพความประทับใจ รอยยิ้มของพ่อ #เพราะพวกเราคิดถึงพ่อ

รวมภาพ ในหลวง ทรงฉลองพระองค์ชุดลำลอง #ดูเมื่อไรคิดถึงพ่อเมื่อนั้น

มีวันนี้เพราะพ่อให้ ถนนโครงการพระราชดำริ เพื่อความสะดวกของปวงชน

 

The post มาทำความรู้จัก สุสานหลวง วัดราชบพิธฯ และวัดบวรนิเวศวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 9 ก่อนไปกราบพ่อ appeared first on SUDSAPDA.COM.


Viewing all articles
Browse latest Browse all 5111

Trending Articles