ปฏิบัติการค้นหานักฟุตและโค้ชจากทีมหมูป่าอะคาเดมี่ทั้ง 13 ชีวิตใน ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ที่เพิ่งประสบความสำเร็จไป คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าขาดความร่วมมือร่วมใจจากทุกหน่วยงาน ทหาร หน่วยซีล และเจ้าหน้าที่ทุกคน ทั้งไทยและต่างประเทศ แต่งานจะลุล่วงไปไม่ได้หากขาดผู้บัญชาการที่มีฝีมือ สุดฯ จึงขอยก 5 ท่านี้ให้เป็นตัวแทนของฮีโร่หลักในภารกิจนี้ค่ะ
5 ฮีโร่หลัก จากภารกิจค้นหา 13 ชีวิตใน ถ้ำหลวง
ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ภารกิจตามหาทีมหมูป่าอะคาเดมี่แม่สายคงไม่สำเร็จไปได้ด้วยดี หากไม่มีผู้ว่าฯ คนนี้ที่เปรียบเสมือนแม่ทัพ คอยตัดสินใจและสั่งการให้งานต่างๆ ลุล่วงไปอย่างราบรื่น ท่านคือข้าราชการตงฉินที่ไม่ยอมให้กับเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นผู้ว่าฯ ที่เน้นการปฏิบัติการให้เห็นมากกว่าพูด ภารกิจค้นหา 13 ชีวิตในถ้ำหลวงครั้งนี้จึงมักจะเห็นภาพท่านทำงานมากกว่าตอบคำถามนักข่าว แต่เมื่อมีความคืบหน้า ท่านผู้ว่าฯ ก็แถลงทันทีเพื่อไม่ให้เกิดข่าวลือ ทุกคำที่บอกกับสื่อสั้น กระชับ ได้ใจความ
อันที่จริงผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ มีคำสั่งถูกโยกย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา แต่ยังรอพระบรมราชโองการแต่งตั้ง จึงยังคงดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ เชียงรายอยู่ และทำหน้าที่เป็นแม่ทัพในภารกิจค้นหาทีมหมูป่าอะคาเดมี่ในถ้ำหลวงในครั้งนี้
ที่ท่านผู้ว่าฯ ดูเชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถเป็นอย่างดี เพราะท่านเรียนจบปริญญาถึง 4 ใบ โดยที่น่าสนใจคือ ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโทMaster of Science (Geodetic Science and Surveying) จาก The Ohio State University ประเทศสหรัฐอเมริกา
ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ต้องแบกรับความกดดันมหาศาลจากคนทั้งประเทศ เพราะต่างคนต่างรอความหวังที่ท่านจะแถลงการณ์ความคืบหน้า รวมถึงท่านต้องทำงานร่วมกับอาสารสมัครทั้งชาวไทยและต่างประเทศ หน่วยงานรัฐและเอกชนกว่า 50 หน่วยงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ท่านต้องประสานงานและทำงานร่วมกันให้เร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฮีโร่อันดับ 1 ของภารกิจนี้จึงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดฺื นั่นเอง
พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือ ผบ.ซีล ท่านเป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติการค้นหาทีมหมูป่าอะคาเดมี่ในครั้งนี้ นอกจากท่านจะตอบรับคำขอความช่วยเหลือ และส่งหน่วยซีลมาร่วมค้นหาแล้ว ท่านยังลงไปปฏิบัติการเอง และเข้าไปบัญชาการถึงในถ้ำ ผบ.ซีลบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ถ้าไม่พบทีมหมูป่าอะคาเดมี่ทั้ง 13 คน จะไม่ยกเลิกภารกิจแน่นอน
แต่ผบ.ซีลไม่ได้เป็นแม่ทับที่สั่งให้ทหารรบเท่านั้น แต่ท่านยังห่วงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของหน่วยซีลทุกคน ท่านจะไม่สั่งให้ลุยต่อ หากประเมินสถานการณ์แล้วว่าเป็นอันตรายและยากต่อการค้นหา และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจึงมีคำสั่งให้ค้นหาต่อ
พล.ร.ต.อาภากร จบการฝึกจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือโดยตรง และเป็นครูฝึกด้วย อีกทั้งในอดีตท่านยังเคยเป็นผู้ช่วยทูตทหารเรือประจำประเทศเมียนมาร์ จึงมีความรู้ความชำนาญในการวิเคราะห์สถานการณ์และการใช้กำลังทหารเป็นอย่างดี แถมยังอยู่เป็นกำลังใจให้หน่วยซีลจนจบภารกิจด้วย
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติการทางน้ำไปแล้วอาจจะยังมีความหวังไม่มากพอ จึงต้องอาศัยการปฏิบัติการทางบกร่วมด้วย โดยท่าน ผบ.ตร. นำทีมตำรวจตระเวณชายแดนขึ้นดอยผาหมี เพื่อสำรวจและหาทางเข้าปล่องถ้ำ อีกทั้งยังส่งพลร่มเพื่อโรยตัวจากปล่องถ้ำเข้าไปในถ้ำด้วย ท่านไม่เพียงแต่สั่งการ แต่ท่านร่วมขึ้นเขาเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเหล่าลูกน้อง นอนกลางดิน กินกลางทรายร่วมกัน
โพรไฟล์ของท่านผบ.ตร.ไม่ธรรมดา เพราะท่านผ่านหลักสูตรการสืบราชการลับจากหน่วยงาน U.S. Secret Service-Counter Assault , ผ่านหลักสูตรต่อต้านก่อการร้าย นเรศวร 61 และอรินทราช 26 และยังผ่านหลักสูตรอบรมการสืบสวนสอบสวนของ FBI ด้วย ท่านจึงถนัดงานด้านสืบสวนสอบสวนเป็นอย่างมาก คดีร้ายแรงใหญ่ๆ ล้วนแต่ผ่านมือท่านมาแล้วทั้งนั้น
พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน ผู้บังคับกองพันเสนารักษ์ที่ 3 ค่ายธุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา แพทย์ทหารประจำหน่วยซีล เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการรักษาพยาบาลและการช่วยชีวิตเป็นอย่างดี หมอภาคย์สามารถดำน้ำได้ และสามารถไปถึงตัวผู้สูญหายทีมหมูป่าอะคาเดมี่ได้ทันทีที่พบตัว พร้อมทั้งสามารถดูแลจนสภาพร่างกายแข็งแรงก่อนออกมาจากถ้ำ
หมอภาคย์เป็นที่รู้จักกันในฉายา “มนุษย์ที่แกร่งที่สุดในปฐพี” และ “นักล่าเครื่องหมาย” เนื่องจากผ่านการอบรมหลักสูตรของกองทัพมากมายครบทั้ง 3 เหล่าทัพ จนบนอกแทบไม่มีที่ให้ติดเครื่องหมายเพิ่มอีกแล้ว หลักสูตรที่หมอภาคย์ผ่านการฝึก ได้แก่ หลักสูตรส่งทางอากาศ Airbone , หลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม , หลักสูตรจู่โจม Ranger (เสือคาบดาบ) , หลักสูตรลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบกและจู่โจมนาวิกโยธิน , หลักสูตรการปฏิบัติการพิเศษ , หลักสูตรปฏิบัติการพิเศษอากาศโยธิน , หลักสูตรทหารเสือราชินี และเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 91
ทางด้านการปฏิบัติการทางการทหาร หมอภาคย์เคยเป็น นายแพทย์กองกำลังไทย-อิรัก 976 ผลัดที่ 2 ปี 2547 , นายแพทย์กองกำลังสันติสุข 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2549 และนายทหารส่งกลับ/ฝ่ายเสธ ศูนย์แพทย์ทหารบก จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2557 ประวัติไม่ธรรมดาใช่มั้ยล่ะ
อาจารย์ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ท่านเป็นหนึ่งในจิตอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือภารกิจค้นหาในถ้าหลวง ขุนน้ำนางนอน ในครั้งนี้ โดยใช้ความรู้ความสามารถทางด้านวิศวกรรมที่ท่านมี ประเมินตำแหน่งพื้นที่ในถ้ำ ให้หน่วยสำรวจพื้นที่เหนือผนังถ้ำ ทำการสำรวจโพรงใกล้ผนังถ้ำหลวง เพื่อวางแผนในการขุดเจาะถ้ำให้รอบคอบและปลอดภัยมากที่สุด โดยท่านทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น กรมทรัพยากรธรณีวิทยา ตำรวจตระเวณชายแดน ทหารบกเพื่อทำการสำรวจปล่องถ้ำและเจาะถ้ำไปพร้อมๆ กัน
อาจารย์ธเนศมีความรู้ความสามารถทั้งทางด้านวิศวกรรมและธรณี ท่านจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยขอนแก่น , ปริญญาโทสาขาธรณีเทคนิค ภาควิชาวิศวกรรมโยธาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมสิงแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านเข้าไปช่วยเหลือเคสตึกถล่ม สะพานถล่ม มานับครั้งไม่ถ้วน และในปฏิบัติการการค้นหานี้ อาจารย์ธเนศก็ได้ไปถึงถ้ำหลวงในวันแรกๆ เพื่อทำการช่วยเหลือ
น่าชื่นชมและยินดีที่ประเทศไทยมีคนเก่ง และนำความรู้ความสามารถมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงได้รับความร่วมมือดีๆ จากทุกภาคส่วน จึงทำให้ภารกิจในการค้นหาทีมหมูป่าอะคาเดมี่ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ข้อมูลจาก www.bangkokbiznews.com , www.pptvhd36.com , www.matichon.co.th , www.khaosod.co.th , oldsite.asa.or.th
ภาพจาก prachatai.com , www.tnews.co.th , www.komchadluek.net , www.thai-hotnews.com / Facebook : อ.ธเนศ วีระศิริ
TEXT : Ploychompoo
เรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ
สรุปเหตุการณ์ตลอด 10 วัน กับภารกิจค้นหา ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ และน้ำใจที่ได้จากทั่วโลก
ภารกิจถ้ำหลวงสำเร็จลุล่วงด้วยน้ำใจจากทีมซัพพอร์ตทั่วทุกสารทิศ#ขอบคุณจากใจ
ที่พึ่งทางใจ ความเชื่อและปฎิหาริย์ที่ถ้ำหลวง จากวันแรกจนถึงวันนี้ที่ทุกคนรอคอย
The post 5 ฮีโร่หลัก จากภารกิจค้นหาใน ถ้ำหลวง กำลังสำคัญของงานนี้ appeared first on SUDSAPDA (สุดสัปดาห์) - TREND LIFESTYLE AND INSPIRATION.