ฮอตสุดในนาทีนี้ต้องยกให้ ละครบุพเพสันนิวาส ไม่เพียงแต่เนื้อเรื่องสนุก น่าติดตามเท่านั้น แต่ยังแฝงความรู้ประวัติในสมัยพระนารายณ์มหาราช และตัวละครหลัก ก็มีตัวตนอยู่จริงในประวัติชาติไทยด้วย มาทำความรู้จักกับบุคคลสำคัญผ่านละครเรื่องนี้กันเถอะ
รู้จักตัวละครมีตัวตนในประวัติศาสตร์ ในละครบุพเพสันนิวาส
พ่อเดช/หมื่นสุนทรเทวา/ขุนศรีวิสารวาจา
หมื่นสุนทรเทวา ซึ่งภายหลังได้อวยยศเป็น ขุนศรีวิสารวาจา ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญทางการทูต เป็น 1 ใน 3 ราชทูตที่เดินทางไปฝรั่งเศส นำโดย ออกญาพระวิสุทธสุธร ภายหลังรู้จักกันในนาม พระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต มีผู้ติดตามไปจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดได้รับการต้อนรับจาก พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หรือ เลอรัว – โซแลย (le Roi-Soleil) ณ พระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อ พ.ศ. 2229 ดาราผู้รับบทนี้คือ ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ
ออกญาโหราธิบดี / พระโหราทายหนู
บิดาของพ่อเดช เก่งทางโหราศาสตร์และอักษรศาสตร์ เป็นราชครูของพระนารายณ์ ใจดี เมตตากรุณาต่อการะเกดจริงใจ แม้ในยามการะเกดร้ายกาจใครๆ เกลียดก็ตาม แต่เกรงใจเมีย ยกให้เป็นใหญ่ในบ้าน มีเมียบ่าวหลายคน ลูกอีกเยอะ มองเหตุการณ์บ้านเมืองทะลุ คาดการณ์หลายอย่างแม่นยำ ดาราที่รับบทนี้ในละครบุพเพสันวาส ก็คือ อาหนิง นิรุตติ์ ศิริจรรยา
พระโหราธิบดี เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งในวงการแต่งหนังสือในสมัยพระนารายณ์มหาราช สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระโหราธิบดีเป็นชาวเมืองพิจิตร นับถือกันว่าทำนายแม่นยำ เคยทายจำนวนหนู (สัตว์) ที่พระเจ้าปราสาททองครอบไว้อย่างถูกต้อง และเคยทายว่าไฟจะไหม้ในพระราชวังในสามวัน พระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อจึงเสด็จไปอยู่นอกวัง และปรากฏเป็นจริงดังทำนาย เกิดฟ้าผ่าถูกหลังคาพระมหาปราสาท เกิดไฟไหม้ลามไปเป็นอันมาจริง ๆ กล่าวว่าพระโหราธิบดีคงถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๒๒๓ เป็นผู้นิพนธ์ “หนังสือจินดามณี” ในปี พ.ศ. ๒๒๑๕ ซึ่งเป็นหนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทย
ออกญาโหราธิบดี มีชื่อเสียงทำนายเหตุการณ์อนาคตได้แม่นยำราวจับวาง ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พระบรมชนกสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ว่า “ดูแม่นกว่าตาเห็น” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ห่างจากในเรื่องบุพเพสันนิษวาสประมาณ 20 กว่าปี
“…ศักราช 1005 ปีมะแมศก (พ.ศ. 2186 ) พระโหราถวายฎีกาว่า ใน 3 วันจะเกิดเพลิงในพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) ตรัสได้ทรงฟังตกพระทัย เพราะโหราคนนี้แม่ยำนัก ครั้งหนึ่งเสด็จอยู่ในพระที่นั่งไพชยนตมหาปราสาท มูสิกะ (หนู) ตกลงมาทรงพระกรุณาเอาขันทองครอบไว้ ให้หาพระโหรามาทาย พระโหราคำนวณแล้วทูลว่าสัตว์ 4 เท้า ทรงพระกรุณาตรัสว่ากี่ตัว พระโหราคำนวณว่า 4 ตัวทรงพระกรุณาตรัสว่า 4 เท้านั้นถูกอยู่ แต่ 4 ตัวนั้นผิดแล้ว ครั้นเปิดขันทองขึ้นเห็นลูกสิกะคลานอยู่ 3 ตัว กับแม่ตัว 1 เป็น ๔ ตัว ก็ทรงพระกรุณาตรัสสรรเสริญพระโหราธิบดีว่าดูแม่นกว่าตาเห็นอีก ให้พระราชทานเงินตราชั่งหนึ่งเสื้อผ้า ๒ สำรับ แต่นั้นมาก็เชื่อถือพระโหราธิบดีนัก ครั้นทราบว่าจะเกิดเพลิงจึงมิไว้พระทัย ให้ขนของในพระราชวังออกไปอยู่วัดชัยวัฒนาราม ทั้งเรือบัลลังก์แลเรือศรีเรือคลัง คับคั่งแออัดกันอยู่ แลในพระราชวังนั้นเกณฑ์ไพร่ 3000 สรัพด้วยพร้าขอกะตรอน้ำรักษา ห้ามมิให้หุงข้าวในพระราชวัง แล้วให้เรือตำรวจคอยบอกเหตุทุกทุ่มโมง ครั้นถิงคำรบ 3 วัน เพลาสายแล้ว 4 นาฬิกา เรือตำรวจลงไปกราบทูลพระกรุณาว่าสงบอยู่
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ครั้งนี้เห็นพระโหราจะผิดอยู่แล้ว สั่งเรือเถิดจะเข้าพระราชวัง เจ้าพนักงานก็เลื่อนเรือพระที่นั่งกิ่งเข้ารับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมาเถิงฉนวนประจำท่า พระโหราอยู่ท้ายเรือพระที่นั่ง กราบทูลว่าขอให้ย่ำฆ้องค่ำก่อนจึงจะสิ้นพระเคราะห์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ให้ลอยเรือพระที่นั่งอยู่ เพลาชายแล้ว 5 นาฬิกา เมฆพะยับคลุ้มขึ้นทางประจิมทิศ ฝนตกพรำ ๆ ลงมา ทรงพระกรุณาตรัสแก่พระโหราว่า ฝนตกลงมาสิ้นเหตุแล้วกระมัง พระโหรากราบทูลว่า ขอพระราชทานงดก่อนพอสิ้นคำลง อสุนีเปรี้ยงลงมาต้องเหมพระมหาปราสาท เป็นเพลิงติดพลุ่งโพลงขึ้นไหม้ลามลงมา คนทั้งหลายซึ่งอยู่ในพระราชวังมิรู้ที่จะทำประการใด แลดีบุกอันดาดหลังคานั้นไหลราดลงมาดังห่าฝน เพลิงก็ไหม้ติดต่อไปทั้งห้องคลังเรือนหน้าเรือนหลัง 110 เรือน จึงดับได้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสให้พระโหรา ดูว่าเพลิงฟ้าไหม้ดังนี้จะดีหรือร้าย พระโหรากราบทูลพระกรุณาว่าดีจะมีพระราชลาภและกอบด้วยอิสสริยยศบริวารยศ พระเกียรติจะปรากฎไปนานาประเทศทั้งปวง บรรดาอริราชไพรีจะเกรงพระเดชเดชานุภาพเป็น อันมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังมีพระทัยปราโมทยิ่งนัก ครั้งนั้นไหม้แต่พระที่นั่งมังคลาภิเษกที่ชื่อปราสาททอง…”
(คัดจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับจันทนุมาศ (เจิม))
ถ้าเชื่อตามพระราชพงศาวดาร และเชื่อว่าพระโหราธิบดีผู้นี้ เป็นคนเดียวกับออกญาโหราธิบดีในเรื่องบุพเพสันนิวาส
ชื่อเสียงของท่านก็มีมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้ว และตามนิยายท่านเป็นโหราธิบดีถึง 5 รัชกาล (พระเจ้าปราสาททอง, เจ้าฟ้าไชย, พระศรีสุธรรมราชา, พระนารายณ์, พระเพทราชา)
โกษาเหล็ก
คาแรคเตอร์ในเรื่อง อายุประมาณ 50 ปีกว่า รูปร่างสูงใหญ่ นัยน์ตาคมเหมือนตาเหยี่ยว เสียงพูดเด็ดขาดชัดเจน แค่ฟังก็รู้ว่ามีอำนาจ ดาราผู้รับบทนี้คือ สุรศักดิ์ ชัยอรรถ
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นบุตรชายคนโตของเจ้าแม่วัดดุสิต (พระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) กับ ขุนนางเชื้อสายมอญท่านเกิดในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีน้องชาย 1 คน คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และน้องสาว 1 คน ชื่อ แช่ม หรือ ฉ่ำ
ท่านและน้องชายต่างเป็นข้าหลวงคนสำคัญของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวคือ เมื่อกลุ่มขุนนางอาวุโสซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้การช่วยเหลือให้สมเด็จพระนารายณ์ได้ขึ้นครองราชย์หมดอำนาจลง กลุ่มขุนนางหนุ่ม ซึ่งนำโดยท่านและน้องชายจึงขึ้นมามีอำนาจแทน ท่านได้เป็นแม่ทัพ ในราชการสงครามหลายครั้งในต้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2226
โกษาปาน
อายุประมาณ 30-35 ปี รูปลักษณะสง่าผ่าเผย นัยน์ตาคมกล้า บอกลักษณะมีภูมิปัญญา สำเนียงพูดชัดเจน เป็นน้องชายโกษาเหล็ก ดาราผู้รับบทนี้คือ ชาติชาย งามสรรพ์
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นบุตรของเจ้าแม่วัดุสิต (บัว) ซึ่งเป็นพระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับขุนนางเชื้อสายมอญ เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระนัดดาในสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นเอกอัครราชทูตคนสำคัญ และท่านได้เดินทางไปพร้อมกับ เชอวาเลีย เด โชมองต์ โดยขณะนั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็นออกพระวิสุทธิสุนทร ท่านได้อยู่ฝรั่งเศสเป็นเวลา 6 เดือน ท่านจึงกลับสยาม ภายหลังท่านถึงแก่อสัญกรรมในสมัยสมเด็จพระเพทราชา
นอกจากนี้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ท่านยังเป็นบิดาของ เจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) และเป็นปู่ของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งเป็นบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชน พระปฐมวงศ์ของพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี
ออกญาโกษาธิบดี มีชื่อเดิมว่า ปาน เป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมของสมเด็จพระนารายณ์กษัตริย์องค์ที่ 27 ของอยุธยา และเป็นน้องชายของออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ซึ่งดำรงตำแหน่งพระคลังระหว่างปี พ.ศ. 2200-2226 ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระวิสุทธสุนทร (ปาน) ในสมัยที่โกษาปานดำรงตำแหน่งเป็นพระวิสูตรสุนทรได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในสมัยดังกล่าวฝรั่งเศสมีอิทธิพลในราชสำนักของพระนารายณ์มาก จุดประสงค์ของฝรั่งเศส คือ การเผยแพร่คริสต์ศาสนา และพยายามให้พระนารายณ์เข้ารีตเป็นคริสต์ชนด้วย รวมทั้งยังพยายามมีอำนาจทางการเมืองในอยุธยา ด้วยการเจรจาขอตั้งกำลังทหารของตนที่เมืองบางกอกและเมืองมะริด
โกษาปานเดินทางไปกับเรือฝรั่งเศสเมื่อธันวาคม พ.ศ. 2228 ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 และเดินทางกลับเมื่อ 27 กันยายน พ.ศ. 2230 รวมเดินทางไปกลับอยุธยาฝรั่งเศสทั้งหมด 1 ปี 9 เดือน โกษาปานเป็นนักการทูตที่สุขุม ไม่พูดมาก ละเอียดลออในการจดบันทึกที่ได้พบเห็นในการเดินทางครั้งนั้น สำหรับการเข้าเฝ้าในครั้งนี้ ออกพระวิสุทธิ์สุนทร (ปาน) ได้กระทำหน้าที่เป็นผู้แทนของราชสำนักอยุธยาอย่างถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีการเข้าเฝ้า จนชาวฝรั่งเศสได้กล่าวยกย่องชื่นชมคณะทูตไทย ซึ่งถือว่าการไปเจริญสัมพันธไมตรีครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
การเจริญสัมพันธไมตรีของพระวิสุทธิ์สุนทร (ปาน) และคณะราชทูตในครั้งนั้นได้สร้างชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในทวีปยุโรป เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินทางด้านตะวันออกแต่งคณะราชทูตไปยังสำนักฝรั่งเศสพระเจ้าหลุยส์ทรงจัดการรับรองคณะราชทูตจากกรุงศรีอยุธยาอย่างสมเกียรติยศ และโปรดให้จัดทำเหรียญที่ระลึก และมีการเขียนรูปราชทูตไทยเข้าเฝ้า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสเป็นที่ระลึกด้วย
ในปลายสมัยของพระนารายณ์มีความรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส) ในหมู่ขุนนางไทยและพระสงฆ์ พระเพทราชา เจ้ากรมช้าง (ซึ่งต่อมาเป็นกษัตริย์องค์ที่ 28 ของอยุธยา) ทรงเป็นผู้นำในการต่อต้านครั้งนี้ โกษาปานได้เข้าเป็นฝ่ายของพระเพทราชา เมื่อพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ โกษาปานได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เจรจากับนายพลฝรั่งเศสที่คุมป้อมอยู่ที่เมืองบางกอกให้ถอนทหารออกไปจากอาณาจักรไทยได้สำเร็จ
พระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นชายหนุ่มที่มีรูปงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย มีไหวพริบดีรู้จักโต้ตอบ ได้ถูกเรื่องราวและกาลเทศะ ไม่มีอาการประหม่าสะทกสะเทิ้นเขินอาย เป็นคนช่างสังเกตจดจำสิ่งที่พบเห็นได้ทุกอย่าง เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินเป็นสมเด็จพระเพทราชานั้น พระยาโกษาธิบดี (ปาน ) นั้นได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี แต่ด้วยเหตุที่เป็นคนซื่อสัตย์ต่อสมเด็จพระนารายณ์ฯ ดังนั้นเมื่อเห็นว่าสมเด็จพระเพทราชากระทำการไม่สมควรกรณี แต่งตั้งทั้งพระมเหสีและพระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมเหสี จึงทำให้สมเด็จพระเพทราชานั้นทรงกริ้วเป็นอันมาก จึงหาเหตุให้ต้องพระราชอาญา เมื่อ พ.ศ. 2243 ภรรยาตลอดจนทรัพย์สมบัติของท่านก็ถูกริบหมด และมีโทษโบยด้วยเชือกจนสลบ เล่ากันว่าหลังนั้นไม่มีเนื้อดี จนมีการกล่าวกันว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) นั้นมีความเกรงกลัวพระราชอาญาเสียจนไม่กล้าที่จะกราบทูลเรื่องสำคัญๆ จนในที่สุดถึงแก่อสัญกรรม ด้วยความโทมนัสที่ถูกพระราชอาญาและต้องโทษโบยอยู่เสมอ
ส่วนครอบครัวของท่านก็ได้แตกฉานซ่านเซ็นไปอยู่คนละทิศละทาง เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งสุดท้าย คุณทองดีซึ่งเป็นหลานปู่ของโกษาปานได้อพยพไปอยู่กับ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ต่อมาเมื่อเหตุการณ์สงบได้มาตั้งนิวาสสถานอยู่ ณ ตำบลสะแกกรัง เมืองอุทัยธานี ท่านผู้นี้ปรากฏว่าเป็นบิดาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ได้รับการยกย่องสรรเสริญในเรื่องความสามารถทำให้ไทยเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ และจากบุคลิกของท่านที่เฉลียวฉลาด มีมารยาทเรียบร้อย ช่างสังเกต ช่างจดจำ พูดจาหลักแหลมคมคาย ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการประกาศชื่อเสียง และเกียรติคุณของประเทศชาติ จากผลงาน การเป็นหัวหน้าคณะราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสจนประสบผลสำเร็จของออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ทำให้ไทยรอดพ้นจากการคุกคามของฮอลันดา
หลวงสุรสาคร/ ออกพระฤทธิกำแหง/เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ /คอนสแตนติน ฟอลคอน
ข้าราชการ เชื้อสายกรีก เข้ามารับราชการในราชสำนักอยุธยา เป็นที่โปรดปรานของพระนารายณ์ เพราะเป็นคนฉลาดและเข้าใจเพ็ดทูลเรื่องราวต่างๆ มีความสามารถหลายอย่าง พูดไทยชัด ราชาศัพท์ถูกต้อง สามารถทำตามรับสั่งพระนารายณ์ได้ทุกเรื่อง และมมักจะมีแนวคิดใหม่ๆ มาเสนอให้พระนารายณ์เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์หลายอย่างของราชสำนัก จนเป็นที่เล่าลือว่า ฟอลคอนมักใหญ่ใฝ่สูงอยากเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ฟอลคอนไม่ค่อยถูกกับพระเพทราชา มักมีปัญหากันบ่อยครั้ง
ฟอลคอนเคยใส่ความว่า ออกญาโกษาธิบดีกินสินบน จนต้องถูกโบยจนตายดังที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ เป็นคนใจร้าย วาจาสามหาว มุทะลุดุดัน เจ้าแผนการ แต่จงรักภักดีต่อพระนารายณ์เป็นที่สุด สุดท้ายเมื่อเกิดกบฏพระเพทราชา พระนารายณ์สิ้นพระชนม์ จึงถูกกลุ่มกบฏสังหาร
แม่มะลิ/ตองกีมาร์/ท้าวทองกีบม้า
ลูกครึ่งแขกเบงกอลเชื้อสายจากทางพ่อ และมีเชื้อสายญี่ปุ่น-โปรตุเกสทางแม่ เป็นผู้หญิงสวยคมขำ รูปร่างดีเพราะเผ่าพันธุ์ ในเรื่องเป็นเพื่อนสนิทการะเกด … ถูกชะตากัน แต่จำใจแต่งงานกับฟอลคอนเพราะผิดหวังจากพ่อเดช สุดท้ายก็รักฟอลคอน เพราะเห็นว่าเขารักจริง แต่ในที่สุดฟอลคอนตาย และตัวเองถูกจับต้องอาญาขังคุก แต่ทำความดีในคุกจนได้เป็นข้าราชการ สุดท้ายเป็นหัวหน้าห้องเครื่องหวาน มีฝีมือทำขนมเป็นที่เลื่องลือ ดาราที่รับบทนี้คือ สุษิรา แอนจิลีน่า
ตามหน้าประวัติศาสตร์ ท้าวทองกีบม้า มีตัวตนจริง มีชื่อตัวว่า มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา (Maria Guyomar de Pinha) แต่มักเป็นที่รู้จักในชื่อ มารี กีมาร์ เป็นสุภาพสตรีช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภรรยาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่ทำราชการในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เธอมีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก ตำแหน่ง “ท้าวทองกีบม้า” ว่ากันว่านางได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส อาทิ ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, ทองม้วน และหม้อแกง จนได้สมญาว่าเป็น “ราชินีแห่งขนมไทย” แต่ก็มีกระแสคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า ขนมโปรตุเกสเหล่านี้แพร่หลายมาพร้อมกับกลุ่มชนเชื้อสายโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยามากว่า 150 ปีก่อนที่นางจะเกิดเสียอีก เรื่องที่นางดัดแปลงขนมไทยจากตำรับโปรตุเกสเป็นคนแรกเห็นจะผิดไป
พระเพทราชา / สมเด็จพระเพทราชา
สมเด็จพระเพทราชา เป็นชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี เป็นบุตรของพระนม และมีพระขนิษฐาคือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหารา ต่อมาได้รับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็นพระเพทราชา ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพระคชบาล มีกำลังพลในสังกัดหลายพัน ดาราผู้รับบทนี้คือ ศรุต วิจิตรานนท์
ในปี พ.ศ. 2231 เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประทับ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ทรงพระประชวรใกล้สวรรคต ทรงเห็นว่าพระเพทราชาเป็นผู้ใหญ่ จึงมอบหมายให้ว่าราชการแทน ระหว่างนั้นพระเพทราชาลวงพระอนุชาทั้งสองพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ คือ เจ้าฟ้างอย และ เจ้าฟ้าอภัยทศ ว่ามีรับสั่งให้เข้าเฝ้า เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จถึงเมืองลพบุรีก็ถูก หลวงสรศักดิ์ จับไปสำเร็จโทษที่วัดทราก ส่วนพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรม ถูกผลักตกจากชาลาพระที่นั่งสุทธาสวรรค์แล้วกุมตัวไปสำเร็จโทษ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตแล้ว ได้สั่งให้ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เข้ามาพบ เมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์มาถึงศาลาลูกขุนก็ถูกกุมตัวไปประหารชีวิต เมื่อจัดการบ้านเมืองสงบแล้วจึงเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มาประดิษฐานที่ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แล้วรับราชาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท
เมื่อปราบดาภิเษกนั้นสมเด็จพระเพทราชามีพระชนมายุได้ 51 พรรษา ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิศร บรมนาถบพิตร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว” แล้วทรงตั้ง คุณหญิงกัน เป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา ตั้งเจ้าฟ้าทองพระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ตั้งนางนิ่มเป็นพระสนมเอก ตั้งหลวงสรศักดิ์เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งหม่อมแก้วบุตร ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระขนิษฐาของพระองค์เป็นกรมขุนเสนาบริรักษ์ เป็นต้น
เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ ได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายไทยเป็นผู้จัดเรือ กับต้องส่งคืนทรัพย์สิน ที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาคืนทั้งหมด สำหรับข้าราชการและราษฎรไทย ที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส สิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา สมเด็จพระเพทราชา เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2246 สิริพระชนมายุได้ 71 พรรษา ครองราชย์ได้ 15 ปี
หลวงสรศักดิ์/ออกหลวงสรศักดิ์/พระเจ้าเสือ/สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่8
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ สมเด็จพระเจ้าเสือนี้ เป็นพระโอรสของสมเด็จพระเพทราชา มีพระนามเดิมว่า เดื่อ ต่อมาได้รับราชการเป็น หลวงสรศักดิ์ และได้ช่วยสมเด็จพระเพทราชาชิงอำนาจได้รับแต่งตั้งเป็น ขุนหลวงสรศักดิ์ พระมหาอุปราช ครั้นเมื่อสมเด็จพระเพทราชาประชวรหนักนั้น ขุนหลวงสรศักดิ์ ได้นำเอาตัว เจ้าฟ้าพระขวัญ (พระตรัสน้อย) พระโอรสของสมเด็จพระเพทราชาไปสำเร็จโทษ และทำการกำจัดพวกที่นิยมเจ้าฟ้าพระขวัญเป็นจำนวนมาก ดาราผู้รับบทนี้คือ จิรายุ ตันตระกูล
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2245 สมเด็จพระเพทราชาเสด็จสวรรคตลง ขุนหลวงสรศักดิ์พระมหาอุปราช จึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าเสือ พร้อมกันนั้นพระองค์ได้แต่งตั้งให้ เจ้าฟ้าเพ็ชร พระโอรสองค์ใหญ่เป็น พระมหาอุปราช และตั้งเจ้าฟ้าพร พระโอรสองค์น้อยเป็น พระบัณฑูรน้อย
สมเด็จพระเจ้าเสือ นั้นมีความนัยเล่าว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์ ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2205 นั้น เมื่อมีชัยชนะได้เมืองเชียงใหม่แล้ว ขณะที่พระองค์ทรงประทับที่เมืองเชียงใหม่นั้น ทรงมีบาทบริจาริกาเป็นกุลธิดาชาวเชียงใหม่ และนางนั้นได้เกิดมีพระครรภ์ขึ้น พระองค์จะทรงเลี้ยงดูก็ละอายพระทัย ดังนั้นเมื่อมีการปูนบำเหน็จความชอบให้กับแม่ทัพนายกอง และข้าราชการ พระองค์จึงพระราชทานนางนั้น (มีครรภ์อ่อน) ให้กับพระเพทราชา ซึ่งเป็นแม่ทัพทำการสู้รบมีความชอบ
ต่อมานางนั้นได้คลอดบุตรเป็นชาย พระเพทราชาให้ชื่อว่า เดื่อ ต่อมาได้นำมาถวายเป็นมหาดเล็กของสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์ทรงชุบเลี้ยงนายเดื่อ โดยให้ความกรุณาอย่างพระราชบุตร และตั้งเป็นหลวงสรศักดิ์ ด้วยการได้รับการทำนุบำรุงจากพระเจ้าเหนือหัวอย่างดีนั้นทำให้หลวงสรศักดิ์ถือตัวว่าเป็นพระโอรส ทำให้มีความทะนงองอาจกล้าที่จะทำการต่างๆ จนทำให้พระเพทราชา จำต้องชิงราชสมบัติขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ด้วยเหตุนี้ในจดหมายของฝรั่งเศส จึงมักจะกล่าวอ้างว่า หลวงสรศักดิ์นั้นเป็น พระโอรสของสมเด็จพระนารายณ์ ไปด้วย
เช่นเดียวกันเรื่องเช่นนี้ก็ไม่น่าเชื่อได้ว่าหลวงสรศักดิ์ เป็นพระโอรสไปได้ หากมีการพระราชทานนางให้บำเหน็จแก่พระเพทราชาจริงก็อยู่ในธรรมเนียมการให้ยศให้นาง การที่นางมีหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์แล้วก็ทรงเลี้ยงดูได้เพราะเหตุที่สมเด็จพระนารายณ์ไม่มีพระโอรสอยู่แล้ว ตังจะเห็นว่าพระองค์ยังทรงมีพระปีย์ (จากราชินิกุลญาติทางพระชายา) มาเลี้ยงดูดั่งพระโอรสเช่นกัน หลวงสรศักดิ์ก็น่าจะเช่นเดียวกัน
สมเด็จพระเจ้าเสือนั้นต่อมาทรงประชวรหนัก และทรงพระพิโรธเจ้าฟ้าเพชร พระมหาอุปราช ทำให้พระองค์ทรงเวนราชสมบัติให้แก่ เจ้าฟ้าพร พระบัณฑูรน้อย เมื่อสมเด็จพระเจ้าเสือเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปีชวด พ.ศ. 2251 รวมมีพระชนม์ 45 พรรษา ครองราชย์อยู่ 7 ปี เจ้าฟ้าพร พระบัณฑูรน้อย ก็ยอมเวนคืนราชสมบัติให้เจ้าฟ้าเพชร ครองราชย์เป็นกษัตริย์ต่อมา
สมเด็จพระเจ้าเสือหรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 คือ ขุนหลวงสรศักดิ์มีพระชนมายุ 36 พรรษา ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2246 รัชกาลนี้ มีพระราชพิธีพระบรมศพพระราชบิดา ให้สร้างพระอารามที่บ้านโพธิ์ประทับช้างอสุนีบาตต้องยอดพระมณฑปวัดมงคลบพิตร เสด็จนมัสการพระพุทธบาทเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี เมืองสาครบุรี และเกิดคดีประหารพันท้ายนรสิงห์ จึงโปรดให้ขุดคลองโคกขาม ปลายรัชกาล เมื่อ พ.ศ. 2249 สมเด็จพระเจ้าเสือมีพระชนมายุได้ 45 พรรษาทรงประชวรอยู่ ณ พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์และสวรรคตในปี พ.ศ. 2451 นั้น บางแห่งว่าครองราชย์ พ.ศ. 2240 – 2251 (11 ปี) ศักราชไม่ตรงกัน)
หลวงศรียศ/พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว)
เกิดเมื่อปีใดไม่ปรากฏ บิดาคือพระยาศรีเนาวรัตน์ (อากามะหะหมัด) มารดาชื่อท่านชี เป็นน้องชายของเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) มีศักดิ์เป็นหลานตาของเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด)เริ่มรับราชการโดยถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนได้เป็นหลวงศรียศ (แก้ว) ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชา ไม่ทราบว่าเสียชีวิตเมื่อใด ดาราที่รับบทนี้คือ วิศววิท วงษ์วรรณลภย์
ช่วงที่ท่านเป็นจุฬาราชมนตรีอยู่นั้น เป็นช่วงที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เรืองอำนาจและมีความขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์และมุสลิม ในราชอาณาจักรมาก และคาดว่าท่านเป็นจุฬาราชมนตรี คนที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เอ่ยถึงว่า ลงไปเจรจาที่เมืองปัตตาเวีย เกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในมะละกา ในจดหมายที่เขาส่งถึงบาทหลวงเดอลาแซส
พระปีย์ / ออกพระปีย์
เป็นพระราชโอรสบุญธรรมใน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังได้ถูกสำเร็จโทษโดยพระเพทราชาในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ด้วยเหตุผลทางการเมือง ดาราที่รับบทนี้ คือ ธชย ประทุมวรรณ
ปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระปีย์ได้อยู่รับใช้สนองพระยุคลบาทพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระประชวรหนัก ขณะที่พระปีย์กำลังล้างหน้าริมหน้าต่างยามเช้า ก็ถูกขุนพิพิธรักษา สมุนของหลวงสรศักดิ์ผลักจนพลัดตกลงจากหน้าต่าง ก่อนถูพระเพทราชาจับไปสำเร็จโทษเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2231 และทิ้งศพไว้ที่วัดซาก ส่วนสาเหตุที่กำจัดพระปีย์ก็เพราะพระปีย์เป็นผู้หนึ่งที่มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์
ศรีปราชญ์
ร่างสันทัด อายุประมาณ 30 ปีปลาย เป็นคนลึกซึ้ง อารมณ์อ่อนไหว ดาราที่รับบทนี้คือ ณฐณพ ชื่นหิรัญ
ศรีปราชญ์ คือกวีเอกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นบุตรของพระโหราธิบดี เข้ารับราชการตั้งแต่อายุ 9 ขวบ และกลายเป็นกวีเอกของพระนารายณ์มหาราช แต่สุดท้ายด้วยความสามารถที่เก่งกาจ ทำให้มีผู้คิดปองร้าย ใส่ความศรีปราชญ์ จนถูกสั่งเนรเทศและประหารชีวิตในที่สุด ศรีปราชญ์มีผลงานชิ้นสำคัญ คือ หนังสือกำศรวลศรีปราชญ์
ฟานิก
หน้าตาออกเหมือนแขก กิริยาเหมือนแขก คือเหมือนลุกลี้ลุกลนนิดๆ อายุประมาณ 40 ปีกว่า เป็นพ่อของ มารีอา หรือท้าวทองกีบม้า ดาราผู้รับบทนี้คือ ไชย ขุนศรีรักษา
ทั้งนี้ไม่มีการชี้ชัดว่าฟานิกเป็นบิดาแท้จริงของมารีอาหรือไม่ ขณะที่งานเขียนของ อี. ดับเบิลยู ฮัตชินสัน (E. W. Hutchinson) ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจำนวนสองเล่ม ที่มีการกล่าวถึงประวัติชีวิตของท้าวทองกีบม้า คือ Adventure in Siam in the 17th Century. และ 1688 Revolution in Siam. โดยเมื่อกล่าวถึงฟานิกเขามักใช้คำว่า “ผู้เลี้ยงดู” หรือ “พ่อเลี้ยง” แต่เอกสารบางชิ้นก็ว่า ท้าวทองกีบม้าผิวคล้ำละม้ายฟานิก และเอกสารของบาทหลวงฝรั่งเศส ต่างไม่ลังเลใจที่จะเรียกฟานิกว่าเป็นบิดาของนาง
เรียบเรียง AuAi
The post เกร็ดประวัติศาสตร์น่ารู้ จากตัวละครมีตัวตนใน ละครบุพเพสันนิวาส appeared first on SUDSAPDA (สุดสัปดาห์) - TREND LIFESTYLE AND INSPIRATION.