เป็นเรื่องไม่ธรรมดานักที่ใครสักคนจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับพระราชวงศ์ และยากขึ้นไปอีกที่จะได้รับเลือกให้เป็นครูผู้ถวายคำแนะนำในการดำเนินชีวิต และวิชาการ ให้กับพระมหากษัตริย์ไทยถึง 2 พระองค์ เส้นทางชีวิต และโชคชะตะอันแสนวิเศษนี้ได้เกิดขึ้นกับ เกลย์อง เซไรดารีส ครูส่วนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
ครูเกลย์อง เซไรดารีส ครูส่วนพระองค์ ผู้เป็นทั้งพี่เลี้ยงและพระสหาย ของในหลวงรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9
บันทึกความทรงจำที่นับว่าเป็นบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ของครูเกลย์อง เซไรดารีสนี้ ได้รวบรวมไว้ในหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และเจ้านายไทยในโลซาน บันทึกความทรงจำของครูส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 ซึ่งรวบรวมและเขียนโดย ลีซองดร์ เซ. เซไรดารีส (บุตรชายของครูเกลย์อง) ขณะที่ผู้เขียน เฝ้าทูลละอองธุรีพระบาทที่วังไกลกังวล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชปรารภให้ผู้เขียน ค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ ของทั้งสองพระองค์ขณะทรงพระเยาว์ และเรื่องของครูส่วนพระองค์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงแนะนำว่าจำเป็นที่ต้องบันทึกเหตุการณ์ช่วงนั้นเอาไว้
สุดสัปดาห์ขออนุญาตคัดและเผยแพร่ เรื่องราวและภาพบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้ เพื่อร่วมรำลึกความรัก ความผูกพัน ระหว่างสองพระมหากษัตริย์ไทย และครูส่วนพระองค์
การพบกันครั้งประวัติศาสตร์
หม่อมเจ้ารัศมีสุริยัน สุริยง ซึ่งเป็นเพื่อนกับครูเกลย์อง ทรงประทับใจอุปนิสัยของเพื่อนคนนี้ และมั่นพระทัยว่าเกลย์อง จะสามารถทำหน้าที่ครูพิเศษของในหลวงทั้ง 2 พระองค์ได้อย่างดี จึงทรงชักชวนให้ไปเฝ้าพระราชชนนี การพบกันครั้งนั้นประสบผลสำเร็จทันที พระราชชนนีทรงเสนอให้เกลย์องมาเป็นครูส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 และพระอนุชา เกลย์องรู้สึกเต็มตื้นไปด้วยเกียรติอันยิ่งใหญ่ และรับตอบรับโดยไม่ลังเลด้วยความยินดี และภาคภูมิใจ
ชีวิตครอบครัวที่… วิลล่าวัฒนา
สมเด็จพระราชชนนีตั้งพระทัยว่าจะทรงเลี้ยงดู บี๋ นันท์และเล็ก (พระนามเล่นซึ่งทรงใช้เรียกโอรสและธิดา) ด้วยพระองค์เอง โดยมีครูพี่เลี้ยงคอยช่วยเรื่องการเรียน ครูเกลย์องประทับใจในคุณภาพของโรงเรียนเอกอล นูแวลที่ตนเคยอยู่ เห็นว่าโรงเรียนนี้เหมาะที่สุดในการเตรียมความพร้อม สำหรับนักเรียนทั้งสองพระองค์ จึงเสนอให้พระราชชนนีนำโอรสธิดาเข้าศึกษาที่โรงเรียนนี้ พระองค์ไว้พระทัยในตัวครูเกลย์อง จึงทรงดำเนินการตามคำแนะนำ
ในหลวงทั้งสองพระองค์ ทรงมีพระปรีชาด้านการเรียนอยู่แล้ว แม้ว่าจะยังทรงพระเยาว์ก็ทรงมีความรับผิดชอบสูง โดยตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเก็บเกี่ยวความรู้ และทรงทราบดีถึงภาระอันหนักที่ต้องเผชิญในชีวิตของแต่ละพระองค์
ครอบครัวครูเกลย์อง อาศัยอยู่ที่อพาร์ทเม้นท์ห่างจากที่ประทับราว 1 กิโลเมตร จึงสะดวกในการเดินมาปฏิบัติหน้าที่ได้เกือบตลอดเวลา
หลังเลิกเรียน ครูจะจัดกิจกรรมประเภทต่างๆ ให้ลูกศิษย์ได้ฝึกฝน เช่น จักรยาน เทนนิส ปิงปอง สเก็ตน้ำแข็ง ในหลวงอานันท์ทรงเล่นปิงปองเก่งมาก แถมทรงจักรยานได้เร็วมาก และเมื่อถึงฤดูหนาวทั้งครอบครัว จะพากันไปเที่ยวเล่นสกีบนภูเขา ซึ่งอันที่จริงกิจกรรมยามว่างที่โปรดมีหลายอย่าง เช่น ออกกำลังกาย ทำสวน งานช่างยนต์เล็กๆ น้อยๆ และทั้งสองพระองค์ยังโปรดเกมส์แข่งขัน เช่น หมากรุก รถยนต์ของเล่น รถไฟจำลอง ซึ่งสามองค์พี่น้องยังได้ร่วมกันตั้ง ปาตาปูมคลับ สมาคมสมมติที่สามสมาชิกร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ
มกราคม พ.ศ. 2481
ในหลวงอานันท์ในชั้นเรียนที่โรงเรียน เอกอล นูแวล
ในหลวงอานันท์และพระอนุชาภูมิพล ที่วิลล่าวัฒนา
เจ้านายสองพี่น้องในลานเด็กเล่นของโรงเรียน
กิจกรรมของเจ้านายเล็กๆ
ในหลวงภูมิพลทรงเริ่มโปรดดนตรีที่โลซานน์นี้เอง ตอนแรกก็เพียงแค่ทรงเล่นๆ จากนั้นก็ทรงนิพนธ์ทำนองเอง พระองค์ทรงโปรดเพลงแจ๊สมาก และทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เช่น เปียโน คลาริเน็ต แซกโซโฟนและกลอง
ฤดูร้อนปี 2481 ในหลวงทั้งสองพระองค์ทรงไปเข้าค่ายกิจกรรมที่ค่ายซิมแมร์ลี เมืองอาเดลโบเดน โดยมีครูเกลย์องไปด้วย ตลอดเวลาที่เข้าค่ายนั้น ผู้อำนวยการค่ายไม่บอกให้ใครรู้เลยว่า นักเรียนทั้งสองพระองค์ เป็นบุคคลสำคัญเพียงใด ทั้งนี้ได้ดำเนินตามพระราชประสงค์ของพระราชชนนี
ในหลวงทั้งสองพระองค์กับครู, ที่ชองเปกซ์ พ.ศ. 2480
ที่อาเดลโบเดน, ฤดูร้อน พ.ศ. 2481
ในหลวงทั้งสองพระองค์และครูเกลย์อง ที่อาเดลโบเดน, ฤดูร้อน พ.ศ. 2481
ในหลวงอานันท์และพระอนุชาทรงเล่นสเก็ตน้ำแข็ง โดยมีครูเกลย์อง คอยถวายคำแนะนำ
ที่อโรซา มีนาคม พ.ศ. 2482
ที่อโรซา มีนาคม พ.ศ. 2482
ที่อโรซา มีนาคม พ.ศ. 2482
เสด็จนิวัติพระนคร
เดือนกันยายน พ.ศ. 2481 เจ้านายทุกพระองค์ต้องเสด็จนิวัติ ครูเกลย์องรักในหลวงอานันท์และในหลวงภูมิพลมาก นักเรียนทั้งสองพระองค์ก็ทรงรู้สึกเช่นเดียวกัน และทรงผูกพันกับครูมาก อีกทั้งยังทรงตระหนักดีถึงความทุ่มเทของครูที่ตั้งใจถวายพระอักษร และดูแลในชีวิตประจำวัน พระราชชนนีก็ไว้วางพระทัยครูมากเช่นกัน ดังนั้นการเสด็จนิวัติครั้งนี้ทำให้ทุกคนต้องใจหาย แม้จะมีกำหนดกลับสวิตเซอร์แลนด์ต้นปีถัดมาก็ตาม
ทุกพระองค์ออกเดินทางจากโลซานน์ด้วยความอาลัย และเดินทางไกลโดยเรือสมุทร ครูเกลย์องได้รับจดหมายที่ส่งจากจุดแวะตามรายทาง เล่าเรื่องการเดินทางและเหตุการณ์ตื่นเต้นต่างๆ หลายฉบับ อาทิ
ขณะนั้นทุกพระองค์ตรัสและนิพนธ์ภาษาฝรั่งเศสได้แล้วเป็นอย่างดี จดหมายที่คัดมาจากต้นฉบับล้วนสื่อให้เห็นถึงความสนิทสนมและเป็นกันเองระหว่างเจ้านาย และครูส่วนพระองค์ได้อย่างดี
18 ตุลาคม 2481
เรามาถึงมาร์เซย เมื่อเช้านี้ และกำลังออกจากท่าเรือตอนเที่ยง ฉันหวังว่าทุกคนคงสบายดี ห้องของเราสะดวกสบายมาก เราไม่มีเวลาแวะรับประทานซุป “บุยยาแบส” (ลงพระนาม) อานันท์ มหิดล
และต่อด้วย … อาหารเช้าอร่อยมาก (ลงพระนาม) ภูมิพล มหิดล และลงท้ายมีข้อความจากพระราชชนนี ว่า .. ขอบคุณสำหรับดอกไม้ สวยมาก (ลงพระนาม) ส. มหิดล
ชีวิตในนักศึกษาในสวิตเซอร์แลนด์
ราวต้นปี 2482 ทุกพระองค์เสด็จกลับโลซานน์ ครูเกลย์องกลับมารับหน้าที่ ครูส่วนพระองค์ต่อ ในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในหลวงอานันท์ทรงเลือกศึกษาสาขานิติศาสตร์ โดยพระอนุชาภูมิพลทรงเลือกศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ทรงถนัดมากที่สุด
การดำเนินชีวิตประจำวันในวิลล่าวัฒนา เป็นการเรียนรู้วิชาการ เล่นกีฬา ออกไปเที่ยวเล่น และมีงานช่างทำเครื่องเรือนไม้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ในหลวงทั้งสองพระองค์ก็หลงใหลในศิลปะแขนงนี้เช่นกัน ในไม่ช้าวิลล่าวัฒนาก็มีห้องทำงานช่างไม้ที่ครบเครื่องเกือบเหมือนของมืออาชีพ ซึ่งเป็นที่ ที่ในหลวงเรียนรู้ศิลปะการช่างไม้ และไม่นานก็ทรงเชี่ยวชาญ ทรงประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ด้วยพระองค์เอง เช่น เฟอร์นิเจอร์เล็กๆ และโดยเฉพาะเครื่องบินและเรือของเล่นจำลองย่อส่วน ที่น่ารักเหมือนจริง
ในหลวงโปรดการถ่ายภาพและดนตรีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงเพียรฝึกฝนศิลปะสองแขนงนี้ราวกับมืออาชีพ ทรงมีห้องล้างฟิล์มส่วนพระองค์ แม้แต่ระหว่างเดินทางกลับเมืองไทยทางเรือ ก็ยังทรงล้างฟิล์มและขยายภาพเองในห้องพัก ทรงเขียนเล่าให้ครูฟังว่า อยู่บนเรือซีแลนเดีย ทรงต้องใช้น้ำแข็งมาหล่ออ่างฟิล์มเพราะอุณหภูมิห้องสูงมากเกินไป
ครูกำลังถวายการสอนวิชาช่างไม้ให้ในหลวงอานันท์
เรือรบของไทยจำลอง โดยฝีพระหัตถ์ในหลวงภูมิพล
ในหลวงทั้งสองพระองค์ทรงร่วมทีมจักรยาน ที่ค่าย ลา แกลร์รีแยร์, อาร์เวย์ ฤดูร้อน พ.ศ. 2483
ที่ซูริค 19 สิงหาคม พ.ศ. 2482
ที่วิลล่าวัฒนา 23 กันยายน พ.ศ.2482
ในหลวงภูมิพลทรงร่วมทีมฟุตบอล ที่ค่าย ลา แกลร์รีแยร์, อาร์เวย์ ฤดูร้อน พ.ศ. 2483
สมเด็จพระราชชนนีและครูเกลย์องในชุดสกี, ที่ดาวอส พ.ศ. 2485
ทรงเล่นสกีที่ดาวอส พ.ศ. 2487
ทรงเล่นสกีที่ดาวอส พ.ศ. 2487
ในหลวงอานันท์
อ่านบันทึกความทรงจำได้ที่หน้าถัดไป
The post ครูส่วนพระองค์ กับความทรงจำที่มีต่อในหลวง ร.8 และ ร.9 appeared first on SUDSAPDA.COM.