เบิร์ด ธงไชย ไม่ใช่แค่นักร้องคุณภาพที่ได้รับเลือกให้ถ่ายทอดบทเพลงเพื่อพ่อมาแล้วมากมายเท่านั้น แต่ยังเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ดำเนินตามรอยความพอเพียงของในหลวงได้อย่างน่าประทับใจ
เบิร์ด ธงไชย ความประทับใจเมื่อได้เข้าเฝ้าฯ
“ย้อนกลับไป หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน เบิร์ดขออนุญาตเล่าให้ฟังนะครับ เพราะเป็นเรื่องที่น่ารักที่สุด ในวันที่แม่เบิร์ดเสีย วันนั้นหัวใจมันสลาย เหมือนฟองน้ำที่ไม่มีน้ำสักหยด แห้งผาก ช่วงนั้นท่านผู้หญิงอรนุช ก็ขอให้เบิร์ดไปร้องเพลงในงาน วันราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในรัชกาลที่ 9 ที่วังไกลกังวล แค่ได้ยินแค่นั้นหัวใจเบิร์ดก็ชุ่มชื่นขึ้นมา แล้วก็ซ้อมร้องเพลงต่อหน้าแม่บนเรือน”
“ถึงวันเข้าเฝ้า เบิร์ดก็เอารูปแม่ใส่กระเป๋าเข้าเฝ้าเจ้านายด้วยกัน ไปถึงวังไกลกังวล ตัวเราสั่นไปหมด เพราะมองไปมีแต่พระราชวงศ์ ท่านผู้หญิงก็พาเราไปกราบแทบพระบาท ทั้งสองพระองค์ใกล้ๆ ในหลวงทรงรับสั่งว่า “เบิร์ด เบิร์ดตื่นเต้นใช่ไหม” เบิร์ดก็บอกว่า “พระเจ้าข้า” ท่านก็บอกว่า “เวลาขึ้นไปร้องให้หลับตาสิ จะได้ไม่ตื่นเต้น จะได้ไม่เห็นใคร” สิ่งเหล่านี้ทำให้ใจเราที่เล็กนิดเดียว ห่อเหี่ยวเหลือเกิน ค่อย ๆ เบ่งบาน มีพลังขึ้นมา และตอนเบิร์ดขึ้นไปร้องเพลงบนเวที เชื่อมั้ยว่า หูไม่ได้ยินเสียงดนตรีแม้แต่นิดเดียว แต่รู้ว่าเพลงที่หนึ่ง ที่สอง คืออะไร เพราะเขียนคิวเอาไว้”
“เบิร์ดร้องทั้งๆ ที่ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย รู้สึกว่าจะจบด้วยเพลงต้นไม้ของพ่อ เขาบอกให้เบิร์ดโค้ง เบิร์ดโค้งไม่ได้แล้ว เบิร์ดขอกราบกลางเวที แล้วเงยหน้าขึ้นมา ภาพที่เห็นคือพระองค์ท่านทรงพระสรวล ทรงยิ้ม และทรงโบกพระหัตถ์ให้เบิร์ด ฟองน้ำที่มันแห้งสนิทนั้น มันชุ่มฉ่ำ มันมีความสุข มันมีพลังขึ้นมา ท่านผู้หญิงทุกคนร้องไห้กันหมด บอกว่า…ไม่เห็นพระองค์ยิ้มมานานแล้ว ตอนนั้นทำให้รู้สึกว่าต่อไปนี้เราจะแพ้ไม่ได้ เราจะเสียใจไม่ได้ เบิร์ดมีหน้าที่ต้องแข็งแรงนะแม่ เบิร์ดมีหน้าที่ทำให้ทุกคนมีความสุข เบิร์ดต้องกลับมาแข็งแรงให้ได้”
“ย้อนกลับไปอีกหลายๆ งาน เบิร์ดได้เข้าไปร้องในงานประสูติของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ซึ่งเบิร์ดเรียกว่าท่านพ่อ พระองค์ทรงตรัสว่าถ้าเป็นลูกท่านภี ต้องเรียกชายเบิร์ด ไม่อยากให้เรียกว่าป๋าเบิร์ด ท่านถามว่าเบิร์ดทำนาอะไร ทรงรู้ ทรงพระเมตตา พระองค์ท่านได้อ่านบทสัมภาษณ์เบิร์ด”
“วันนั้นได้เอาข้าวมาถวายด้วย หลังจากร้องเพลงถวาย พอเอาข้าวถวาย พระองค์ก็ถามว่าถ้าเป็นนักร้องก็ขอให้เป็นที่หนึ่ง ท่านยกพระนิ้วโป้งให้ และถ้าเป็นเกษตรกรก็ขอให้เป็นที่หนึ่ง เบิร์ดว่ามันเกินคำบรรยาย เบิร์ดกราบแทบพระบาทพระองค์ท่าน เบิร์ดใช้เวลาอยู่ตรงนั้นให้มากที่สุด มันทำให้รู้ว่าพวกเราทำไมโชคดีเหลือเกิน มีบ้านหลังหนึ่งที่ชื่อว่าประเทศไทย มีพ่อเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดูแลเรา คุยกับเรา และได้มองว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องหรือเปล่า ขอให้เราประสบความสำเร็จ ให้พรเรา ทำให้พวกเรามีความสุข ทั้งโลกนี่คนไทยน่าอิจฉาที่สุด”
เบิร์ด ธงไชย กับวิธีพอเพียงตามรอยพ่อ
“ในอดีตครอบครัวผมยากจนมาก คุณแม่ (นางอุดม แมคอินไตย์) ต้องไปเป็นหนี้ข้าวมาเลี้ยงลูกๆ คือพวกเรา 7 ชีวิตพี่ๆน้องๆ ตอนนี้พอมีเงินบ้าง (มากๆด้วย) ก็เลยพาครอบครัวมาปลูกข้าวกินเอง ที่ดินแห่งนี้ คุณแม่รักมันมาก เบิร์ดได้เรียนรู้จากชาวบ้าน ในการทำนาปลูกข้าว จากนั้นก็ปลูกพืชผักอื่น ๆ ปลูกบ้านและขุดบ่อน้ำ (เลี้ยงปลา แต่ห้ามจับขึ้นมากินมาขาย)
“แล้วมาเห็นหนังสือเล่มหนึ่งเป็นของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเกษตรตามแนวพระราชดำริ มีการวาดภาพพื้นที่ ที่อยู่อาศัย ขุดบ่อน้ำ ปลูกข้าว ปลูกพืช เป็นการเกษตรพอกินพออยู่ ซึ่งมันตรงกับที่เราทำอยู่ จึงรู้ว่า เบิร์ด…เอ๊ย เจ้าเดินมาถูกทางแล้ว พร้อมกับที่ผมมีความคิดว่า เรามีใจ มีสมอง มีปัญญาที่จะมาช่วยพัฒนาตรงนี้ได้ ตอนแรกๆ ที่ผมเข้ามา หมู่บ้านป่าจั่น เมื่อ 4-5 ปีก่อนนั้น พอสัมผัสกับชาวบ้าน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าพวกเขาบริสุทธิ์มากๆ และได้รู้ว่าการเป็นเกษตรกรร่ำรวยความสุข มีครอบครัวที่อยู่เย็นเป็นสุข นอกนั้นไม่มีอะไรเลย จะมีเงินก็มาจากการกู้ยืม อันเป็นสมบัติชิ้นเดียวที่พวกเขาจักต้องรักษาไว้ คือ ต้องรักษา ‘หนี้’ โดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะใช้หมด…ชาตินี้หรือว่าชาติไหน”
“เพราะเงินมันเป็นอนาคตที่มองไม่เห็น กว่าจะได้มาสุดแสนจะยากลำบาก ช่วงนั้น หนุ่มๆ สาวๆ อพยพไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่อื่นหมด คงยังเหลือแต่คนแก่กับเด็กๆ เฝ้าบ้าน ผมจึงเข้าไปลุยในหมู่บ้าน
บอกกับชาวบ้านว่า เจ้านายทอดพระเนตรดูเราอยู่นะ ต้องตั้งใจทำงาน อย่าหนีไปไหน ที่นี่เป็นขุมเงิน ขุมทอง ของพวกเรา ที่ดินเป็นที่ทำกินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง อย่าปล่อยรกและอย่าขายทิ้ง”
ครอบครัวเกษตรกรตัวอย่าง
“เบิร์ดกับพี่ชาย (ปื๊ด-เกรียงไกร แมคอินไตย์) ทำการเกษตรเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน เมื่อหมดฤดูนาก็มีการปลูกพืชอื่นๆ แล้วผมก็หาพริกพันธุ์ดีๆ มาแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน ได้ร่วมกันปลูกพอพริกเจริญงอกงามผลผลิตออกมา เขาก็จะนำมาส่งมาให้เราเราก็จะหาตลาดและส่งขายให้เขา พอเขาได้เงินก็ดีใจ มีแรงที่จะทำต่อ พืชไร่เราก็ทำให้เป็นตัวอย่าง และก็แนะนำ ให้รื้อฟื้นแผ่นดิน ต้นลิ้นจี่ ลำไย เก่าๆ แก่ๆ ที่ปล่อยให้รกร้าง จนต้นโทรมแทบจะยืนตายนึ่ง ก็มาตัดแต่งกิ่งทำสาวต้นใหม่”
“เมื่อผลผลิตออกมาชาวบ้านอาจจะมึนตื้อ ไม่รู้จะนำไปขายที่ไหน เบิร์ดก็สนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และสามารถยืดอายุการเก็บรักษาด้วยการสร้างโรงอบแห้งขึ้นมาบริการแก่ชาวบ้าน พวกเขาก็พอใจที่ไม่ต้องขนลำไยสดไปที่อื่นให้เสียค่าขนส่งโดยใช่เหตุ”
“เพื่อการพัฒนาในด้านการผลิต เบิร์ดแนะนำให้ชาวบ้านได้มีความรู้ในเรื่องดิน และได้ติดต่อนักวิชาการมาให้ความรู้ในเรื่องการตรวจสภาพดินว่ามี ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส กำมะถันเท่าไหร่ พืชที่จะปลูกต้องการธาตุอาหารอะไรเท่าไหร่ จึงจะเหมาะสม ให้รู้จักทำปุ๋ย คิดสูตรปุ๋ย ปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการผลิต”
“แล้วที่สำคัญสุดคือเรื่องตลาด ทำอย่างไรจะหลุดพ้นจากการกดขี่ของพ่อค้าคนกลาง อย่างตอนที่ฮือฮาในสวนอุดมสุข คือ ทำเห็ดหอม พอผลผลิตออกมาผมก็นำไปขายบ้าง จ่าย แจกไปบ้าง ด้วยที่ว่าในส่วนที่จ่ายแจกไปนั้น อาจมีผลสะท้อนกลับเมื่อเขารับประทานเห็ดของเราแล้วชอบ หากติดใจในรสชาติคราวต่อไปเขาก็จะสั่งซื้อจากเรา ทีนี้เราก็จะขายได้”
“เมื่อเราเกิดความชำนาญแล้วต่อไปก็เป็นการลดต้นทุนการผลิต อย่างวัตถุดิบในการผลิตคือ ขี้เลื่อยไม้ยางพาราที่ต้องสั่งซื้อกันที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีราคาแพงมาก คันรถละ 17,000 บาท คาดว่าจะต้องเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเป็นคันละ 20,000 บาท ขี้เลื่อยรถบรรทุกคันหนึ่ง ก็ใช้เป็นเชื้อเพาะเห็ดหอมได้ 1 โรงเรือน ไหนจะค่าสารเคมี ค่าดำเนินการจัดการอีก อันเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตทั้งนั้น ก็อยากจะให้ชาวบ้านได้มีความคิด ที่จะใช้วัสดุในท้องถิ่นมาทดแทน ซึ่งเราเองก็พอมองหามาได้ แต่อยากจะให้ชาวบ้านเขาได้คิด และตัดสินใจกันเองบ้าง ไม่ใช่เป็นผู้ตามแต่อย่างเดียว”
“สวนอุดมสุข ของเรานี้ได้ทำการเกษตรผสมผสานอย่างจริงจัง และพยายามที่จะให้เป็นแบบอย่าง แก่ชาวบ้านได้ยึดถือนำไปปฏิบัติด้วยใจ สมอง และภูมิปัญญาในการพัฒนาพื้นที่ทำกิน ให้สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองและครอบครัวให้อยู่รอดด้วยเศรษฐกิจพอเพียงโดย ดำเนินตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเกษตรกรต้องทำให้จริง อยู่ให้เป็น พอมีพอกิน เพราะงานเกษตรกรรมจะสำเร็จได้ต้องใช้เวลา และเกษตรกรต้องมีความอุตสาหะ รักจริง แล้วก็จะทำได้เพราะดินเป็นดินของเรา เมื่อทำให้ดินมีหญ้าขึ้นได้ (ดินก็เกิดความอุดมสมบูรณ์) ก็ถือว่าการเกษตรประสบความสำเร็จ จากนั้น จงทำดินให้เป็นทอง ทำหญ้าให้เป็นแบงก์ และก็ทำได้ไม่ยากนัก แน่นอนที่สุดอยู่ที่ตัวเราเอง”
ข้อมูล GoToKnow, เรื่องเล่าเช้านี้, greenwave.fm
ติดตามเรื่องราวของในหลวงเพิ่มเติม
วันนี้เมื่อปีที่แล้ว ประชาชนชาวไทยร่วมร้องเพลง สรรเสริญพระบารมี กึกก้องสนามหลวง
รวมภาพ ในหลวง ทรงฉลองพระองค์ชุดลำลอง #ดูเมื่อไรคิดถึงพ่อเมื่อนั้น
รวมภาพความประทับใจ รอยยิ้มของพ่อ #เพราะพวกเราคิดถึงพ่อ
The post เบิร์ด ธงไชย เดินตามรอยพ่อในวิถีพอเพียง กับพระราชดำรัสที่ไม่มีวันลืม appeared first on SUDSAPDA.COM.