พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะด้านศิลปะ ทั้งการถ่ายภาพ การวาดภาพ ประติมากรรม ดนตรี หรือแม้แต่วรรณศิลป์ จึงทรงได้รับการขนานนามว่าทรงเป็น องค์อัครศิลปิน ซึ่งหมายถึงผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะทุกแขนงนั่นเอง
ในหลวง รัชกาลที่ ๙ องค์อัครศิลปิน
ด้านจิตรกรรม
ทรงสนพระราชหฤทัยงานศิลปะด้านจิตรกรรมตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งที่ประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายหลังที่เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ในปีพ.ศ. 2502 ทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจัง ในระยะแรกๆ พระองค์ทรงเขียนภาพเหมือนจากพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ ผู้ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท และมีภาพผลงานที่ทรงเขียนภาพหุ่นนิ่งและภาพทิวทัศน์บ้าง
ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการเขียนภาพของพระองค์เองว่า ทรงวาดอย่างนักวาดภาพสมัครเล่น คือทรงวาดตามพระราชหฤทัยจะนึกวาด มิได้ทรงคำนึงถึงทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์อันใด ผลงานของพระองค์ท่านออกมาจากจินตนาการของพระองค์เอง
ด้านประติมากรรม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงศึกษาค้นคว้าเทคนิควิธีการต่างๆ ในงานประติมากรรมด้วยพระองค์เอง ทั้งการปั้น การหล่อ และการทำแม่พิมพ์ โดยทรงศึกษาจากหนังสือทางด้านศิลปะและทรงลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง
งานประติมากรรมฝีพระหัตถ์ซึ่งเป็นประติมากรรมลอยตัว (Round Relief) เก็บรักษาไว้ในตู้บนพระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต มี 2 ชิ้นคือ รูปปั้นผู้หญิงเปลือยคุกเข่า ความสูง 9 นิ้ว และพระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครึ่งพระองค์ ความสูง 12 นิ้ว ทั้ง 2 ชิ้นทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน
ด้านการถ่ายภาพ
ทรงสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เองจนทรงเป็นนักถ่ายรูปผู้มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงสนพระราชหฤทัยที่จะคิดค้นหาเทคนิคใหม่ๆ ในการถ่ายภาพอยู่เสมอ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ส่วนใหญ่เป็นภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และภาพถ่ายสถานที่ที่พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎร เป็นต้น
ด้านวรรณศิลป์และวาทศิลป์
พระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์จะเห็นได้จากผลงานพระราชนิพนธ์ซึ่งถึงแม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นผลงานที่แสดงทั้งความสนพระราชหฤทัยในเรื่องต่างๆ และพระปรีชาสามารถในการถ่ายทอดเรื่องนั้นๆ ออกมาเป็นตัวอักษร พระราชนิพนธ์เล่มแรก ได้แก่ พระราชานุกิจรัชการที่ ๘ , พระราชนิพนธ์แปล ได้แก่ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และติโต นอกจากนี้ ยังมีบทความที่พระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียงอีกจำนวน ๑๐ บทความ และผลงานพระราชนิพนธ์ที่เป็นที่กล่าวขานอย่างที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง พระมหาชนก
ด้านดนตรี
ทรงฝึกฝนวิชาดนตรีอย่างลึกซึ้ง คือการเขียนโน๊ตและบรรเลงแบบคลาสสิก แนวดนตรีที่ทรงสนพระราชหฤทัยคือ แนวแจ๊ส ทรงศึกษาประวัตินักดนตรีที่มีชื่อเสียงและทรงเปรียบเทียบฝีมือการเล่นดนตรีต่างๆ จากแผ่นเสียงสไตล์ที่โปรด ทรงมีพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีเป็นพิเศษ เครื่องดนตรีที่โปรดคือ เครื่องเป่าแทบทุกชนิด จนได้รับการถวายการยกย่องว่า ทรงเป่าโซปราโนแซกโซโฟนได้ดีที่สุดในประเทศไทย
ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและผู้ที่เคยได้ร่วมเล่นดนตรีกับพระองค์ เล่าถึงพระราชอัจฉริยภาพในการพระราชนิพนธ์เพลงว่า ทรงแต่งเพลงได้ทุกแห่ง บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย ครั้งหนึ่งทรงเกิดแรงบันดาลพระทัย หยิบฉวยซองจดหมายได้ก็ทรงตีเส้น 5 เส้น แล้วทรงเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้นโดยฉับพลัน เช่น เพลง “เราสู้” เป็นต้น
ข้อมูลจาก positioningmag.com , www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com , web.ku.ac.th , anonaeteam.blogspot.com และ www.thaihealth.or.th
ภาพจาก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร , daily.rabbit.co.th , king11111.tripod.com , www.tnews.co.th , www.coolswop.com , 9poto.com , welovethaiking.com
TEXT : Ploychompoo
เรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 หาดูยาก อยากให้คนไทยได้ดู
19 เรื่องราวและหลากหลายภาพประทับใจของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้
พระอัจฉริยภาพด้านการ กีฬา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9
The post องค์อัครศิลปิน พระอัจริยภาพด้านศิลปะของในหลวง รัชกาลที่ ๙ appeared first on SUDSAPDA.COM.